ก้าวต่อไปของเทคโนโลยี xPON
xPON เป็นเทคโนโลยีที่ถูกใช้ในการรับส่งข้อมูลของบริการเน็ตไฟเบอร์ ภายใต้มาตรฐาน ITU-T ( International Telecommunication Union-Telecommunication Section )
เทคโนโลยี xPON
เทคโนโลยี xPON ประกอบด้วยอุปกรณ์ต้นทาง (OLT: Optical Line Terminal) และอุปกรณ์ปลายทาง (ONU: Optical Network Unit | ONT: Optical Network Terminal ) ที่ใช้งานผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสง โดยต่อแบบ P2MP: Point to Multi Point ผ่านอุปกรณ์ที่เป็น PON: Passive Optical Network โดยใช้เคเบิลใยแก้วนำแสงจากอุปกรณ์ต้นทางเพียงแค่ 1 คอร์ แต่สามารถกระจายไปให้กับอุปกรณ์ปลายทางได้เป็นจำนวนมาก เช่น 1:32 1:64 และ 1:128 เป็นต้น อีกทั้งยังทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลที่สูงขึ้นอีกด้วย การเรียกชื่ออุปกรณ์ปลายทางที่อยู่ในบ้านของลูกค้า ตามมาตรฐาน ITU-T จะเรียกว่า ONT สำหรับ xPON ได้มีการพัฒนาตามมาตรฐาน ITU-T ซึ่งจะมีตัวแปร “x” เป็นตัวบอกถึงชนิดของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นไม่ว่า G-PON , XG-PON , XGS-PON และ NG-PON2 ตามลำดับ
เทคโนโลยี G-PON
G-PON: Gigabit-PON หรือมาตรฐาน ITU-T G.984.x จะมีความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลได้สูงสุด 2.5Gbps และอัพโหลดข้อมูลที่ความเร็วสูงสุด 1.25Gbps สำหรับการดาวน์โหลดข้อมูลจะถูกส่งผ่านทางแสงที่ความยาวคลื่น 1490nm จากอุปกรณ์ต้นทาง ไปยังอุปกรณ์ปลายทาง ในลักษณะการ Broadcast ส่วนการอัพโหลดข้อมูลจะถูกส่งผ่านทางแสงที่ความยาวคลื่น 1310nm จากอุปกรณ์ปลายทาง ไปยังอุปกรณ์ต้นทาง ตามจังหวะช่วงเวลา (TDM : Time Division Multiplex) ที่ถูกกำหนดมาจากอุปกรณ์ต้นทาง ทำให้จังหวะการส่งข้อมูลของอุปกรณ์ปลายทางแต่ละตัวที่จะส่งข้อมูลขึ้นไปยังอุปกรณ์ต้นทางจะไม่มีการทับซ้อนกัน ซึ่งเทคนิคเหล่านี้จะถูกใช้อยู่ในเทคโนโลยีของ G-PON
เทคโนโลยี XG-PON | XGS-PON
XG-PON: 10G Asymmetric -PON | XGS-PON: 10G Symmetric- PON หรือมาตรฐาน ITU-T G.987.x ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลได้สูงสุด 10Gbps และอัพโหลดข้อมูลที่ความเร็วสูงสุด 2.5Gbps สำหรับ XG-PON ส่วน XGS-PON จะมีความเร็วสูงสุด 10Gbps ทั้งการดาวน์โหลดและอัพโหลด สำหรับการดาวน์โหลดข้อมูลจะถูกส่งผ่านทางแสงที่ความยาวคลื่น 1577nm จากอุปกรณ์ต้นทาง ไปยังอุปกรณ์ปลายทาง ในลักษณะการ Broadcast ส่วนการอัพโหลดข้อมูลจะถูกส่งผ่านทางแสงที่ความยาวคลื่น 1270nm ในรูปแบบของ TDM เช่นเดียวกันกับมาตรฐาน G-PON ส่วนการปรับเปลี่ยนเพื่อมาใช้งาน XG-PON|XGS-PON นั้นจะทำการ upgrade อุปกรณ์ต้นทางและอุปกรณ์ปลายทางเท่านั้น ในส่วนของอุปกรณ์ที่เป็น Passive ยังคงใช้งานอุปกรณ์ตัวเดิมที่เคยใช้งานอยู่ใน G-PON หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเดิมที่มีก็ยังสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องมีการปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม นั่นหมายถึงว่าเราสามารถใช้งาน XG-PON|XGS-PON บน G-PON ได้อีกด้วย
เทคโนโลยี NG-PON2
NG-PON2: Next Generation-PON2 หรือมาตรฐาน ITU-T G.989.x สามารถให้บริการได้ 2 รูปแบบคือ TWDM-PON: Time and Wavelength Division Multiplexing-PON และ PtP-PON: Point to Point Wavelength Division Multiplexing-PON ความเร็วในการดาวน์โหลดและอีพโหลดข้อมูลได้สูงสุดถึง 40Gbps สำหรับรูปแบบการใช้งานแบบ TWDM-PON จะใช้งานความยาวคลื่นในฝั่งดาวน์โหลดที่ 1596–1603nm ในทางกลับกันฝั่งอัพโหลดจะใช้หลักการแบ่งเวลาใช้งาน โดยความยาวคลื่นแสงจะอยู่ที่ 1525–1544nm สำหรับรูปแบบ PtP-PON นี้เหมือนกับการต่อใช้งานแบบ Point to Point ทำให้ไม่ต้องแบ่งเวลาการใช้งานความยาวคลื่นในฝั่งขาอัพโหลด ซึ่งหลักการทำงาน 1 User จะใช้งาน 2 ความยาวคลื่นแสงสำหรับการรับและส่งข้อมูล โดยมีการใช้งานแสงในช่วงความยาวคลื่นระหว่าง 1603–1625nm โดยเทคโนโลยีนี้จะทำให้การใช้งานของลูกค้าแต่ละรายสามารถใช้งานที่ความเร็ว 10Gbps ได้โดยไม่ต้องมีการแบ่งเวลาการใช้งานกับใคร
ปัจจุบันเทคโนโลยี G-PON ยังถูกนำมาใช้ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะมีการขยับมาใช้ XG-PON | XGS-PON กันบ้างเพื่อเพิ่มความเร็วในการให้บริการอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังใช้เพื่อเป็นเครื่องมือ่ในการทำตลาด แต่เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้งานยังมีราคาสูงจึงยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก สำหรับก้าวต่อไปในอนาคตอันใกล้จะได้เห็นเทคโนโลยี NG-PON2 ถูกนำมาใช้งานหรืออาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอื่นก็เป็นได้
📚 คลิกดูบทความที่เกี่ยวข้อง…